พิพิธภัณฑ์ คุกตวลสเลง นรกในกัมพูชาจากเขมรแดง

พิพิธภัณฑ์ คุกตวลสเลง หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวสุดสะเทือนใจของ คุกตวลสเลง (Tuol Sleng) ที่ กัมพูชา มากันอยู่บ้างแล้ว แต่อาจไม่ได้รู้เจาะลึกถึงเรื่องราวและความสยดสยองจริงๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ หนึ่งในอันดับความโหดร้ายของกลุ่มคนที่ทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างทารุณที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเกิดขึ้นยาวนานถึง 4 ปี เป็น 4 ปีแห่งความทรมานของชาวกัมพูชาจนทั่วโลกต้องขวัญผวา และเล่ากันมาจนถึงทุกวันนี้ เราจะพาไปชม พิพิธภัณฑ์ที่หดหู่ใจที่สุดที่เราเคยได้มากันที่ พิพิธภัณฑ์ คุกตวลสเลง Tuol Sleng Genocide Museum “นรกในกัมพูชาที่มีอยู่จริง”

 

พิพิธภัณฑ์ คุกตวลสเลง กัมพูชา

 

ทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์ คุกตวลสเลง (Tuol Sleng Genocide Museum) พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สุดสยอง ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นอนุสรณ์เตือนใจชาวโลกถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีคนมากมายที่จะกล้าไปเยือนจริงๆ เพราะที่นี่ยังเต็มไปด้วยร่องรอยของคราบเลือดตามพื้น และบรรยากาศหดหู่ถึงที่สุดที่ชวนหายใจไม่ออก

 

ประวัติ คุกตวลสเลง พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

ชนวนของเรื่องสุดสะพรึงนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการปกครองเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จในรัฐบาลของ จอมพล ลอน นอล ซึ่งทำการรัฐประหารยึดอำนาจมาจาก สมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ ประชาชนชาวกัมพูชาจึงต้องหลบหนีไปเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ หรือเขมรแดง ที่นำโดย พลเอกพล พต ที่ต่อมาสามารถโค่นล้มอำนาจของจอมพล ลอน นอลได้ในที่สุด สถานการณ์บ้านเมืองเหมือนจะจบด้วยความแฮปปี้เอนด์ดิ้ง แต่กลับไม่เป็นไปอย่างนั้น พลเอกพล พต ผู้นำของกองทัพเขมรแดง เข้ามายึดครองอำนาจในกัมพูชาเมื่อ ค.ศ.1975 และมีแผนพัฒนาประเทศที่กลายเป็นแผนสังหารหมู่ก็เริ่มขึ้น ความโหดร้ายเกิดขึ้นที่นี่ คุกตวลสเลง (Tuol Sleng) เป็นสถานกักกันในกรุงพนมเปญ ซึ่งดัดแปลงมาจากโรงเรียน โดยเขมรแดงเรียกว่า Security Prison 21 หรือเรียกย่อว่า S-21 เป็นสถานที่จองจำและทรมานนักโทษชาวกัมพูชา ก่อนจะถูกพามายังทุ่งสังหารเพื่อฆ่าและฝังกลบในคราวเดียว

 

เรื่องราวการสังหารหมู่ของกองทัพเขมรแดง

 

พิพิธภัณฑ์ คุกตวลสเลง ในปัจจุบันกลายเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ให้กับเราได้เยี่ยมชม มีภาพความทารุณของนักโทษถูกล่ามด้วยโซ่หนาๆ ตรึงกับพื้นห้องหรือผนัง ไม่มีสภาพความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ บางคนต้องตายอย่างทรมาน และบางคนที่ยังไม่ตาย แม้คิดจะฆ่าตัวตายก็ไม่มีทาง ความหวังของนักโทษพวกนี้คือการไปยัง ทุ่งสังหาร (Killer Field) เพื่อขุดหลุมศพของตัวเองด้วยตัวเองให้ลึกลงไป 1 เมตร และจบชีวิตลงด้วยการโดนฟาดที่กะโหลก หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ผู้คุมอยากเห็นคนถูกฆ่าด้วยความสนุกสนาน

หญิงมีครรภ์คลอดระหว่างถูกคุมขัง ถูกมองเป็นผู้ร่างกายอ่อนแอไร้ประโยชน์ในการทำงาน รวมถึงเด็กที่เพิ่งเกิดมาก็ล้วนเป็นภาระทั้งสิ้น พวกเขาเหล่านี้ก็ถูกฆ่าโดยไร้ความปราณีเช่นกัน มีการนำตัวเด็กทารกไปฟาดกับต้นไม้ก่อนโยนลงหลุมเดียวกับแม่จนเป็นเรื่องปกติ นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งเรื่องของความโหดเหี้ยมของทหารเขมรแดงที่ยกตัวอย่างมา ยังมีอีกหลายเรื่องที่สุดจะพรรณนากล่าวถึงได้

ชาวกัมพูชาที่ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายในทุ่งสังหารนั้นไม่ได้กล่าวอะไรเกินจริงไปเลย มีหลักฐานพบหัวกะโหลกมนุษย์ที่ถูกขุดค้นพบในบริเวณนี้กว่า 8,000 ชิ้น รวมทั้งชิ้นส่วนกระดูกอีกมากมายที่ยังไม่ย่อยสลาย เชื่อว่าไม่ต่ำกว่า 17,000 คนที่ล้มตายที่นี่อย่างทรมาน เรื่องราวเหล่านี้ ถือว่ายังสดใหม่มากๆ ในหน้าประวัติศาสตร์โลก เพราะเพิ่งผ่านมาได้แค่เพียงเกือบ 50 ปีเท่านั้น ชาวกัมพูชาล้มตายกว่าล้านคนทั่วประเทศ เป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน และเหี้ยมโหดในการดำรงชีวิต โดยที่ชาวโลกไม่สามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้ แม้แต่นักข่าวชาวต่างชาติที่เข้าไปทำข่าวเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นจริง ยังถูกสังหารด้วยความทารุณ

ปัจจุบัน ที่นี่ยังคงความสยดสยอง ภายใต้ต้นหญ้าสีเขียวชอุ่มที่ขึ้นปกคลุมรอบๆ บริเวณ ทุกย่างก้าวของการย่ำเดินไป ณ ที่แห่งนี้ ก็เหมือนการเดินอยู่บนหลุมศพของชาวกัมพูชาหลายหมื่นคน แม้ความโหดร้ายนี้จะยุติไปแล้วเมื่อปี ค.ศ.1979 แต่ภาพในความทรงจำของหลายคนยังคงไม่ลบเลือนไป ใครที่ไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์ บอกก่อนเลยค่ะว่า ต้องจิตแข็งพอสมควร เพราะบรรยากาศด้านในโอบล้อมไปด้วยความเศร้า และทำให้เรานอนแทบไม่หลับไปทั้งคืน

 

บทความแนะนำ